คุณกำลังมองหาอะไร?

งพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1/2567

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

08.03.2567
61
1
แชร์
08
มีนาคม
2567

          วันที่ 7 มีนาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1/2567 ณ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้รับเกียรติจากนายแพทย์สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายเอื้อการย์ บุตรโพธิ์ศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ดร.สุภัทรา สามัง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น และทีมบุคลากรโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ วัตถุประสงค์เพื่อฝึกปฏิบัติให้แก่โรงพยาบาลในการเก็บข้อมูลกิจกรรมและการประเมินรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) รวมทั้งการประเมินความเสี่ยง ความเปราะบาง และการเตรียมการรองรับภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโรงพยาบาล
             โดย รพ. ได้เรียนรู้การนำข้อมูลกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาประเมินรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ทั้งปริมาณการปล่อย (GHGs Emission) ปริมาณการลด (GHGs Reduction) และปริมาณการดูดกลับ (GHGs Removal) ก๊าซเรือนกระจก โดยจุดเด่นของ รพ. อาทิ มีมาตรการจัดการขยะและสื่อสารถึงบุคลากร ผู้มาใช้บริการ ให้คัดแยกขยะถูกวิธี เช่น แยกน้ำ/เศษอาหารก่อนทิ้ง นำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ การคัดแยกขยะรีไซเคิล ทำให้ช่วยลดน้ำหนักขยะทั่วไปที่จะนำไปกำจัด มีนโยบายประหยัดพลังงานอย่างมีส่วนร่วม เปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED การบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศและเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ การติดตั้งโซล่าเซลล์เฉพาะจุด นโยบาย Paperless ลดการใช้กระดาษ การลดจำนวนผู้มาใช้บริการ ณ โรงพยาบาลด้วยบริการ Telemedicine ยกเลิกการใช้สารไนตรัสออกไซด์ทางการแพทย์ มีพื้นที่สีเขียว รวมถึงมีนวัตกรรมรีไซเคิลน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดเพื่อรดต้นไม้และใช้ในระบบชักโครก และมีแผนนำเศษกิ่งไม้ใบไม้ไปหมักทำปุ๋ย เป็นต้น ในส่วนของการประเมินความเสี่ยงภัย พบว่า รพ. มีความเสี่ยงภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ คลื่นความร้อน ซึ่ง รพ. มีการเตรียมการรองรับภัยดังกล่าว อาทิ มีการสำรวจและตรวจวัดอุณหภูมิในจุดเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวัง มีการประเมินและป้องกันบุคลากรที่เสี่ยงต่อคลื่นความร้อน การตรวจสอบเครื่องสำรองไฟฟ้าให้พร้อมใช้ตลอดเวลา การมีแผนเตรียมแหล่งน้ำสำรอง การเตรียมการเรื่องน้ำดื่มรองรับความต้องการน้ำที่มากขึ้นจากการได้รับผลกระทบคลื่นความร้อน เช่น การผลิตน้ำดื่มเอง ร่วมกับการสั่งน้ำดื่มจากภายนอก รพ. การให้บริการน้ำดื่มตามจุดต่างๆ ใน รพ. โดยมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำดื่ม-น้ำใช้ ทุก 3 เดือน เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินการระยะต่อไป โรงพยาบาลจะนำข้อคิดเห็นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาจัดทำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น กำหนดแนวทางและดำเนินการลดการปล่อย ทบทวนการประเมินความเปราะบางจากคลื่นความร้อนให้ครอบคลุมต่อการรับมือ ปรับตัวและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน