กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี โดยนายธภัทร ติระวัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี และทีมบุคลากรโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี วัตถุประสงค์ เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของโรงพยาบาล
โรงพยาบาลนำเสนอ ผลการคำนวณและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ การดำเนินกิจกรรมการลด และเปรียบเทียบผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ รพ. พบว่า ในระยะ 6 เดือนแรก ของปี 2567 (ม.ค.67-มิ.ย.67) มีกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การกำจัดของเสีย การใช้ทรัพยากร สาธารณูปโภคและอื่นๆ การใช้สารเคมี และการเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ (Mobile Combustion) ตามลำดับ จากนั้น รพ. ได้ดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไก 7 ประการ อาทิ การให้บริการด้วย Digital health telemedicine และ Health rider เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการเดินทางมา รพ. การใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้า การปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศที่มีอายุการใช้งานนาน การคัดแยกขยะติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ การจัดกิจกรรม 5 ส. และคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อลดปริมาณขยะทั่วไปที่นำไปกำจัดภายนอก การใช้ Health ID ยืนยันตัวตนและการลดใช้กระดาษจากกิจกรรมต่างๆ และการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการ ENV ของ รพ.เป็นแกนนำหลักในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่ทุกแผนก/ฝ่าย ของ รพ. ในการดำเนินการ ซึ่งผลการเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะ 6 เดือนแรก ของปี 2566 และ ปี 2567 พบว่า รพ.สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซจากการใช้สารทำความเย็น การใช้ทรัพยากร สาธารณูปโภค และอื่นๆ แต่ภาพรวมพบปริมาณการปล่อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 อันเป็นผลจากการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด อย่างไรก็ตาม รพ. จะทบทวนและนำผลการวิเคราะห์เพื่อกำหนดมาตรการและดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลการลดในระยะ 1 ปี ต่อไป
นอกจากนี้ รพ. ได้นำเสนอผลการประเมินความเปราะบางจากภัยน้ำท่วมในครั้งที่ 2 พบว่า รพ. มีคะแนนความเปราะบางลดลง เนื่องจาก รพ. มีการจัดทำแผนเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ แผนเผชิญเหตุ (IAP) กรณีอุทกภัยระดับจังหวัดลพบุรีและแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับภัย โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช อาทิ แผนการดูแลสุขภาพ อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และสุขภาพจิตให้แก่บุคลากร มีขั้นตอนและแนวทางการประเมินภาวะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพและสุขภาพจิตแก่บุคลากร รวมถึงมีแผนเตรียมการรองรับกรณีไฟฟ้าดับช่วงเกิดภัย การสำรองเชื้อเพลิงน้ำมัน แก๊สทางการแพทย์ และช่องทางติดต่อประสานงาน การจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านน้ำสะอาด และประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่สำคัญ การจัดหาน้ำดื่มในภาวะน้ำท่วม การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ รพ. จะทบทวนและเพิ่มเติมแผนเตรียมการรองรับภัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานร่วมกับ รพ.นำร่องอื่นๆ ต่อไป