กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ. นครสวรรค์ โดยนายแพทย์ทรงวุฒิ ประสพสุข นายแพทย์เชี่ยวชาญ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำฯ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ และทีมบุคลากรโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ วัตถุประสงค์ เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของโรงพยาบาล
โรงพยาบาลได้นำเสนอผลการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ รพ. พบว่า ในปี 2566 ภาพรวมกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การส่งกำจัดขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ การใช้สารเคมี และการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในยานพาหนะ ตามลำดับ ทาง รพ. มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสู่โรงพยาบาลคาร์บอนต่ำ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อขับเคลื่อนงาน มีการประชุมหารือกันทุกสัปดาห์ และดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไก 7 ประการ อาทิ การให้บริการทางการแพทย์ด้วยวิธี telemedicine ลดการใช้กระดาษด้วยกิจกรรม paperless OPD/IPD มีมาตรการประหยัดพลังงาน ระบบผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การคัดแยกขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยน้ำ มีรถ EV ใช้ในงานจ่ายกลาง งานโภชนาการ ขนส่งผ้าปนเปื้อนและเคลื่อนย้ายมูลฝอย การจัดซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารปลอดสารพิษในท้องถิ่น และเวชภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดการใช้ก๊าซไนตรัสออกไซด์โดยใช้วิธีผ่านตัดแบบเจาะหลัง มีตลาดจำหน่ายผักอินทรีย์ (GREEN market) และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ รพ. เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รพ. จะมีทบทวนและรวบรวมข้อมูลกิจกรรมให้ครบถ้วน และนำผลการวิเคราะห์มากำหนดมาตรการและดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลการลดในระยะ 1 ปี ต่อไป
นอกจากนี้ รพ. ได้นำเสนอผลการประเมินความเปราะบางจากภัยน้ำท่วม พบว่า รพ.มีการจัดทำแผน 2P2R และนำประเด็นที่มีความเปราะบางสูงมาจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับภัยน้ำท่วม โดยมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเผชิญเหตุ แบ่งเป็น 4 ระดับ ใช้เกณฑ์ระดับน้ำ กำหนดผู้รับผิดชอบและช่องทางการติดต่อในช่วงเกิดภัย มีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านไฟฟ้า เช่น การระบุพื้นที่สำคัญที่ต้องการใช้ไฟฟ้า การกำหนดสถานที่ตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพื้นที่การจ่ายไฟฟ้า พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีระบบไฟฟ้าหลักและสำรองไม่ทำงาน มีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการจัดการน้ำสะอาด และแผนเตรียมความพร้อมกรณีระบบน้ำขัดข้อง เพื่อให้สามารถให้บริการได้ตามปกติในช่วงเกิดภัยน้ำท่วม เป็นต้น ดังนั้น ผลประเมินความเปราะบางจากภัยน้ำท่วมของ รพ. หลังมีการจัดทำแผนจึงมีผลภาพรวมความเปราะบางอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม รพ. จะดำเนินการเพิ่มเติมแผนเตรียมการรองรับภัยให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ที่สุด และจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานร่วมกับ รพ.นำร่องอื่นๆ ต่อไป