กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 1 สิงหาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงพยาบาลนาด้วง จ.เลย โดยนายแพทย์ศราวุธ ศรีบุรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาด้วง ประธานคณะกรรมการ ENV เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ทีมผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลนาด้วง และโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ จ.เลย วัตถุประสงค์เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของโรงพยาบาล
โรงพยาบาลได้นำเสนอผลการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ รพ. พบว่า ในปี 2566 กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 5 อันดับแรก ของ รพ.นาด้วง คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การกำจัดของเสีย การใช้ทรัพยากร สาธารณูปโภค และการเผาไหม้แบบอยู่กับที่ (Stationary Combustion) ตามลำดับ ส่วน รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ มีกิจกรรมที่ปล่อยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การรั่วไหลและอื่นๆ (Fugitive Emissions) การกำจัดของเสีย การใช้ทรัพยากร สาธารณูปโภค และการเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ (Mobile Combustion) ตามลำดับ โดยผู้บริหาร รพ. ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงความท้าทายต่อการยกระดับเป็น รพ. คาร์บอนต่ำฯ มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ENV คณะกรรมการ GREEN & CLEAN Hospital คณะทำงานที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการรองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข มีการสื่อสาร ทำความเข้าใจสร้างความตระหนักให้แก่บุคลากรทั้งองค์กร และรายงานความก้าวหน้าแก่ผู้บริหารทุกเดือน โดยดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไก 7 ประการ อาทิ การให้บริการทางการแพทย์ผ่าน telemedicine มีการให้บริการ IPD/OPD paperless HOS office เพื่อลดการใช้กระดาษ มีนโยบายอนุรักษ์พลังงาน การติดตั้งโซล่าเซลล์ นำน้ำที่ผ่านมาบำบัดมารดต้นไม้ สนามหญ้า นโยบายผู้ป่วยทางเดียวกันออกเยี่ยมพร้อมกัน การคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดให้มีจุดทิ้งเศษอาหารและน้ำแยกจากขยะทั่วไป การนำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ การคัดแยกขยะรีไซเคิลนำไปจำหน่าย นำกระดาษเหลือใช้มาประดิษฐ์ถุงใส่ยา การจัดประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ รพ.มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานและรับฟังข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งผลการเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะ 6 เดือนแรก ของปี 2566 และปี 2567 พบว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2567 สูงกว่า 2566 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ไฟฟ้า โดยรพ. มีการวิเคราะห์พบว่า เกิดจากจำนวนคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น การติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น การก่อสร้างในพื้นที่ รพ. และค่า Ft ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รพ. จะทบทวนการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้อง นำไปสู่การวิเคราะห์และกำหนดมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลการลดในระยะ 1 ปี ต่อไป
นอกจากนี้ รพ. ทั้ง 2 แห่ง ได้นำเสนอผลการประเมินความเปราะบางจากวาตภัย และการเตรียมการรองรับภัย อาทิ มีการจัดทำแผนรับมือพายุและวาตภัย มีแผนรองรับกรณีไฟฟ้าดับ การสำรองเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การเตรียมการสำรองน้ำดื่มช่วงเกิดภัย เป็นต้น ทั้งนี้ รพ. จะทบทวนเรื่องการประเมินความเปราะบางให้ถูกต้อง รวมทั้งเพิ่มเติมแผนรองรับภัยให้ครอบคลุม เช่น ด้านคุณภาพน้ำ อาหาร การจัดการของเสีย และพลังงาน เป็นต้น และจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการดำเนินงานร่วมกับ รพ. นำร่องอื่นๆ ต่อไป