กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 7 สิงหาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา จ. ยะลา โดยนายสายัณห์ เศียรอินทร์ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ทีมผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลรามัน และทีมโรงพยาบาลในจังหวัดยะลา จำนวน 6 แห่ง วัตถุประสงค์เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของโรงพยาบาล
รพ. ได้นำเสนอผลการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ รพ. พบว่า ในปี 2566 กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ (Mobile Combustion) การกำจัดมูลฝอยทั่วไป (ส่วนที่นำไปกำจัดภายนอก) การใช้ทรัพยากร สาธารณูปโภค และการกำจัดของเสียติดเชื้อ (ส่วนที่ส่งกำจัดภายนอก) ตามลำดับ โดยผู้บริหาร รพ. ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงความท้าทายต่อการยกระดับเป็น รพ. คาร์บอนต่ำฯ มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบผลการดำเนินงานรายเดือนและรายปี เพื่อนำมากำหนดเป้าหมาย และจัดทำแผนการพัฒนางาน PDCA ในแต่ละด้าน พร้อมกำหนดโครงการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย รพ. ดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไก 7 ประการ อาทิ การให้บริการทางการแพทย์ทางไกล telemedicine การให้บริการ IPD/OPD paperless บริการแจ้งจองคิว ขอใบรับรองแพทย์ย้อนหลังผ่านระบบ Line office การชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง Viral sign เชื่อมต่อกับโปรแกรม Hos xp vertion 4 ของ รพ. เพื่อลดการใช้กระดาษ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีนโยบายอนุรักษ์พลังงาน สำรวจอุปกรณ์ไฟฟ้า จัด workshop สร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม การติดตั้งโซล่าเซลล์ ใช้รถไฟฟ้าในงานขนส่งของโรงพยาบาล จัดทำแผนการใช้รถยนต์ส่วนกลางทางเดียวกันไปพร้อมกัน จัดกิจกรรม Zero waste การคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ รณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก การนำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ มีนวัตกรรมบ่อบำบัดซ้ำ RE-TREATMENT นำน้ำที่ผ่านการบำบัดมาใช้ซ้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ สนามหญ้า การสำรองน้ำใช้ให้เพียงพอ จัดระบบรวบรวมน้ำฝนเก็บกักไว้ในถัง การสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่ และมีแผนการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ รพ.มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานและรับฟังข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งผลการเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะ 7 เดือนแรก ของปี 2566 และปี 2567 พบว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2567 ลดลงจากปี 2566 ซึ่งสาเหตุสำคัญมา รพ. มีการติดตั้งโซล่าเซลล์เพิ่มมากขึ้น จำนวน 183 แผง มีการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รพ. จะทบทวนการเก็บรวบรวมข้อมูล นำไปสู่การวิเคราะห์และกำหนดมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลการลดในระยะ 1 ปี ต่อไป
นอกจากนี้ รพ. ได้นำเสนอผลการประเมินความเปราะบางจากอุทกภัย และการเตรียมการรองรับภัย อาทิ มีการจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงเครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ การติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารสาธารณภัย การจัดทำแผนรับมืออุทกภัย มีแผนรองรับกรณีไฟฟ้าดับ การสำรองเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การเตรียมการอพยพช่วงเกิดภัย อาทิ บุคลากร ผู้ป่วย ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ รพ. จะเพิ่มเติมแผนรองรับภัยให้ครอบคลุม ครบถ้วน และจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการดำเนินงานร่วมกับ รพ. นำร่องอื่นๆ ต่อไป