กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 19 สิงหาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ จ.อุบลราชธานี โดยมีแพทย์หญิงปิยาภรณ์ กลิ่นหอม นายแพทย์ชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานอาชีวเวชกรรม เป็นประธานการประชุม และได้รับเกียรติจากนายณฏพงษ์ พิมพ์โครต รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ และนายอนน เชาวกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ทีมบุคลากรจาก รพ. 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ รพ.ทรายมูล และ รพ.อุบลรักษ์ ธนบุรี วัตถุประสงค์เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโรงพยาบาล
รพ. ได้นำเสนอผลการคำนวณและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า ในภาพรวมกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การกำจัดของเสีย การใช้สารเคมี การเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ และการใช้ทรัพยากรสาธารณูปโภคฯ โดยผู้บริหารให้ความสำคัญ และกำหนดให้ รพ.คาร์บอนต่ำฯ เป็นเป้าหมายของการพัฒนา โดยทีมงานได้วิเคราะห์และกำหนดแผนงานการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งเป้าสู่การลดการใช้ทรัพยากร ได้แก่ ด้านพลังงานไฟฟ้า มีแผนการติดตั้งโซล่าเซลล์ มีมาตรการประหยัดไฟฟ้า เปลี่ยนการใช้หลอดไฟแบบ LED การใช้รถไฟฟ้าในการขนส่งอาหาร ขนส่งผ้า การบริการรับ-ส่งผู้มารับบริการและเจ้าหน้าที่ มีแผนการติดตั้งระบบชาร์ตไฟให้กับรถไฟฟ้า ด้านอาคาร มีการนำหลักการ Green Building มาใช้ออกแบบอาคาร การใช้โทนสีสว่างและแสงธรรมชาติ ด้านบริการทางการแพทย์นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการ เช่น Telemedicine ระบบ OPD/IPD paperless ด้านการจัดการมูลฝอย โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกมูลฝอย การผลิตนวัตกรรมจากวัสดุรีไซเคิล การรับซื้อมูลฝอยผ่านระบบ Refund me-man การนำขยะอินทรีย์ไปเลี้ยงสัตว์ หมักทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ ด้านการใช้น้ำ มีการขนส่งและการจัดการน้ำใช้อย่างยั่งยืน มีมาตรการประหยัดน้ำ การเฝ้าระวังป้องกันน้ำรั่ว ด้านทรัพยากร การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ Green market นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลพบปริมาณการใช้ไนตรัสออกไซด์ค่อนข้างสูง ทาง รพ.จึงจัดทำโครงการสำรวจการใช้ไนตรัสออกไซด์ พบว่ามีรอยรั่วซึม จึงได้แก้ไข ทำให้ช่วยลดปริมาณการใช้ไนตรัสออกไซด์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ผลการเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะ 6-7 เดือนแรกของปี 2566 และปี 2567 พบว่า ในภาพรวมมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2567 สูงกว่า 2566 เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูงในกิจกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้างอาคารเพิ่ม การขยายการให้บริการ เป็นต้น ทั้งนี้ รพ. จะทบทวนการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้อง นำไปสู่การวิเคราะห์และกำหนดมาตรการ และดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลการลดในระยะ 1 ปี ต่อไป
สำหรับด้านความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า รพ. 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ และ รพ.อุบลรักษ์ ธนบุรี ประเมินความเปราะบางจากอุทกภัย และจัดทำแผนรองรับโดยนำแผนดำเนินงานในช่วงภาวะปกติ มาปรับใช้เพื่อรองรับอุทกภัย เช่น มีการจัดทำ MOU กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาครองรับกรณีไฟฟ้าดับ มีแผนสำรองน้ำมันสำหรับเครื่องสำรองไฟฟ้า โดยทำ MOU กับสถานีจ่ายน้ำมัน มีการจัดเตรียมถังสำรองน้ำ และมีแผนการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่ม เป็นต้น ส่วน รพ.ทรายมูล ประเมินความเปราะบางจากภัยแล้ง และจัดทำแผนรองรับ เช่น แผนรองรองรับกรณีไฟฟ้าดับ การประสานงานผู้เกี่ยวข้อง การสำรองน้ำมันสำหรับเครื่องสำรองไฟฟ้า มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ด้านไฟฟ้าให้พร้อมใช้งาน และการเตรียมพื้นที่ที่มีอากาศเย็นสำหรับอพยพผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เป็นต้น ทั้งนี้ รพ.จะทบทวนเรื่องการประเมินความเปราะบางให้ถูกต้องและครบถ้วน และนำมาใช้ในการจัดทำแผนรองรับให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการดำเนินงานร่วมกับ รพ. นำร่องอื่นๆ ต่อไป