กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 20 สิงหาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงพยาบาลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ โดยมีแพทย์หญิงพรวิภา กุลรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้าน ENV เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และทีมบุคลากรจาก รพ. สุรินทร์ วัตถุประสงค์เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัย
จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโรงพยาบาล
รพ. ได้นำเสนอผลการคำนวณและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า ในภาพรวมกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การใช้สารเคมี (Sevoflurane Desflurane และ ไนตรัสออกไซด์) การกำจัดของเสีย (เฉพาะส่วนที่ส่งกำจัดภายนอก) และการใช้ทรัพยากรสาธารณูปโภคฯ ซึ่ง รพ. ได้ดำเนินกิจกรรมลดการใช้ทรัพยากรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้ ด้านการให้บริการทางการแพทย์ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการ เช่น ใช้ระบบนัดหมายออนไลน์ OPD/IPD paperless Telemedicine และ Health rider ส่งยาถึงผู้ป่วย ด้านอาคาร ด้วยการออกแบบเชิงประหยัดพลังงาน และเลือกใช้วัสดุคาร์บอนต่ำ ด้านพลังงานไฟฟ้า มีการติดตั้ง Solar Rooftop จุดอาคารให้บริการ และติดตั้งกังหันโซล่าเซลล์ที่สระน้ำโบราณ ด้านการจัดการมูลฝอย มีนวัตกรรม 3P ลดการใช้ยา ลดต้นทุนยา ใช้ยาสมเหตุผล ลดเชื้อดื้อยา มีนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติก Zero waste การคัดแยกขยะรีไซเคิล และนำเศษอาหารไป เลี้ยงสัตว์ ด้านการขนส่ง การใช้น้ำ มีมาตรการการประหยัดเชื้อเพลิง ทางเดียวกันไปด้วยกัน การตรวจสอบสภาพรถก่อนเดินทาง มีมาตรการประหยัดน้ำ สำรวจการรั่วไหลและก๊อกน้ำที่เสื่อมสภาพ ด้านทรัพยากร มาตรการลดใช้กระดาษ การจัดซื้อจัดจ้างเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งผลการเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะ 7 เดือนแรกของปี 2566 และปี 2567 พบว่า ภาพรวมมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2567 สูงกว่า 2566 เนื่องจาก รพ. ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ด้วยวิธี Autoclave (จากเดิมใช้วิธีส่งกำจัดภายนอก) อย่างไรก็ตาม รพ.มีกิจกรรมที่ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การติดตั้งโซล่าเซลล์ การคัดแยกขยะรีไซเคิล เป็นต้น ทั้งนี้ รพ. จะทบทวนการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้อง นำไปสู่การวิเคราะห์และกำหนดมาตรการ และดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลการลดในระยะ 1 ปี ต่อไป
สำหรับด้านความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า รพ. ประเมินความเปราะบางจากอุทกภัย และจัดทำแผนรองรับภัย อาทิ การติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและรายงานหน่วยงานรับผิดชอบด้านอาคารสถานที่ทราบ การตรวจสอบระดับน้ำ การเฝ้าระวังสังเกตการณ์ประตูน้ำ การจัดเตรียมอุปกรณ์สูบน้ำ มีแนวทางปฏิบัติรองรับในช่วงเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ มีการสำรวจและประเมินสถานที่จะมีความเสี่ยงจากอุทกภัย การเตรียมเครื่องสำรองไฟฟ้าฉุกเฉิน และระบุจุดสำคัญที่ติดตั้ง ทั้งนี้ รพ. จะทบทวนเรื่องการประเมินความเปราะบางให้ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงการนำแผนงานที่มีอยู่ของ รพ.มาจัดทำแผนรองรับอุทกภัยเพื่อให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการดำเนินงานร่วมกับ รพ. นำร่องอื่นๆ ต่อไป