คุณกำลังมองหาอะไร?

วั

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงพยาบาลชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

22.08.2567
54
0
แชร์
22
สิงหาคม
2567

          วันที่ 22 สิงหาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงพยาบาลชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยภูมิ เป็นประธานการประชุม และได้รับเกียรติจากนายแพทย์สุกิจ พรหมรับ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และนายแพทย์อุดมโชค อินทรโชติ รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ ทีมบุคลากรจาก รพ. ชัยภูมิ และ รพ. คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ วัตถุประสงค์เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโรงพยาบาล

          ทั้ง 2 รพ. ได้นำเสนอผลการคำนวณและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การกำจัดของเสีย การใช้สารเคมี การใช้ทรัพยากรสาธารณูปโภคฯ การเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ การรั่วไหลและอื่นๆ (การใช้สารทำความเย็น) โดยผู้บริหารเห็นความสำคัญ มีการกำหนดนโยบาย และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน รวมถึงกำหนดเป้าหมายและจัดทำโครงการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ ด้านพลังงานไฟฟ้า มีการติดตั้ง Solar Rooftop การใช้รถไฟฟ้าในการขนส่ง มาตรการประหยัดพลังงาน และติดตามความร่วมมือจากแต่ละหน่วยงาน ด้านการขนส่ง การใช้น้ำ มีมาตรการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ทางเดียวกันไปด้วยกัน ตรวจเช็คสภาพรถ จำกัดความเร็วในการขับขี่ มีมาตรการลดใช้น้ำประปา มีแผนบำรุงรักษาระบบน้ำประปาอย่างต่อเนื่อง ด้านการจัดการมูลฝอย มีนโยบาย Zero waste ใช้หลัก 3 R จัดการขยะ เพิ่มถังขยะ 13 จุด ใน รพ. สื่อสารให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ มีกิจกรรมนำวัสดุเหลือใช้ทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ “เทพบุตร เทพธิดา Low Carbon” ด้านอาคาร ออกแบบอาคารโดยใช้หลัก Green building และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้านการให้บริการทางการแพทย์ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการ เช่น Telemedicine การใช้หุ่นยนต์จัดยา (Robotic Medicine) บริการส่งยาถึงบ้าน การนัดหมายออนไลน์ OPD/IPD paperless และสื่อสารความรู้ผ่านทีวี ด้านทรัพยากร จัดซื้อจัดจ้างเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่บนพื้นฐานคาร์บอนต่ำ สร้างเครือข่ายปลูกผักปลอดสารพิษในพื้นที่ และ Green market เป็นต้น ซึ่งผลการเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะ 6-7 เดือนแรกของปี 2566 และปี 2567 พบว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น จากกิจกรรมการใช้ไฟฟ้าเพื่อขยายการให้บริการ การให้บริการนอกเวลา และการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด รวมถึงการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในยานพาหนะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การติดตั้งโซล่าเซลล์ และการคัดแยกขยะรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รพ. จะทบทวนการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้อง นำไปสู่การวิเคราะห์และกำหนดมาตรการ และดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลการลดในระยะ 1 ปี ต่อไป

          สำหรับด้านความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า รพ. ชัยภูมิ ประเมินความเปราะบางจากอุทกภัย เนื่องจากเคยประสบภัย จึงมีการจัดทำแผนรองรับภัยแบ่งเป็น 3 ระยะ และเตรียมการด้านต่างๆ อาทิ การติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา การเฝ้าระวังสังเกตการณ์ประตูน้ำ การสร้างกำแพงและประตูเหล็กกั้นน้ำ การจัดเตรียมอุปกรณ์สูบน้ำ มีแผนรองรับกรณีไฟฟ้าดับ เตรียมเครื่องสำรองไฟฟ้าฉุกเฉินและเชื้อเพลิงให้พร้อมใช้ รวมถึงระบุจุดสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า เช่น ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ห้องไอซียู ห้องเซิฟเวอร์ เป็นต้น รวมถึงมีการกำหนดเส้นทางเข้า-ออกเพื่อการขนส่งเวชภัณฑ์ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เป็นต้น ส่วน รพ. คอนสวรรค์ ประเมินความเปราะบางจากภัยแล้ง โดยจัดทำแผนรองรับภัย อาทิ การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้ง เตรียมความพร้อมด้านการสำรองน้ำสะอาด การประสานความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การดูแลซ่อมแซมระบบท่อน้ำในอาคารรวมถึงการทำความสะอาดถังพักน้ำ และมีมาตรการรองรับด้านพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ทั้ง 2 รพ. จะทบทวนเรื่องการประเมินความเปราะบางให้ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงการนำแผนงานที่มีอยู่ของ รพ. มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผนรองรับภัยเพื่อให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการดำเนินงานร่วมกับ รพ. นำร่องอื่นๆ ต่อไป

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน