กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 27 สิงหาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงพยาบาลบางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยมีนายแพทย์วี โรจนศิรประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางบ่อ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยนายแพทย์สุรพัศ ศิวาวุธ นายแพทย์ชำนาญการ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และทีมบุคลากรจาก รพ.บางบ่อ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ และ รพ.กรุงเทพจันทบุรี จ.จันทบุรี วัตถุประสงค์เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำและการเตรียมการรองรับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโรงพยาบาล
รพ. ได้นำเสนอผลการคำนวณและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า ในภาพรวมกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้า รองลงมาคือ การจัดการของเสีย การเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ การใช้ทรัพยากรสาธารณูปโภคฯ และการใช้สารเคมี ซึ่งผู้บริหาร รพ. เห็นความสำคัญ และประกาศนโยบาย สื่อสารให้บุคลากรและผู้รับบริการทราบ จัดตั้งผู้รับผิดชอบผ่านคณะกรรมการต่างๆ เช่น คณะกรรมการ GREEN & CLEAN คณะทำงาน Net Zero Emissions Committee เป็นต้น รวมถึงวิเคราะห์ผลการใช้ทรัพยากรและผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจัดทำโครงการและกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไก 7 ประการ ดังนี้ ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ใช้เทคโนโลยีให้บริการ เช่น Telemedicine IPD paperless Health rider ส่งยาทางไปรษณีย์ ระบบนัดหมายออนไลน์ ด้านอาคาร ออกแบบอาคารใช้โทนสีสว่าง ใช้แสดงธรรมชาติ รับทิศทางลม ด้านพลังงานไฟฟ้า ติดตั้งโซล่าเซลล์ สื่อสารมาตรการประหยัดพลังงาน และรณรงค์ทั้ง รพ.ผ่าน สส.พลังงาน ด้านการจัดการมูลฝอย ใช้หลัก 3R การคัดแยกขยะรีไซเคิล คัดแยกเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ การผลิตเชื้อเพลิง RDF สร้างนวัตกรรมจากขยะในรพ. อบรมเจ้าหน้าที่ลดการใช้สารเคมี ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำน้ำหมักชีวภาพ ด้านการขนส่ง การใช้น้ำ มาตรการ work from home และ carpool รณรงค์ประหยัดน้ำ และนำน้ำที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์ ด้านทรัพยากร การจัดซื้อจัดจ้างเวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร ผลิตภัณฑ์อื่นๆ บนพื้นฐานแนวคิดคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Green market และตลาดนัดชุมชนจำหน่ายผัก ผลไม้ จากชุมชนรอบข้าง เป็นต้น ซึ่งผลการเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะ 6-7 เดือนแรกของปี 2566 และปี 2567 พบว่า ภาพรวมมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2567 สูงกว่า 2566 เนื่องจาก รพ. ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มการให้บริการ การสร้างอาคารใหม่ การประชุม onsite ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงในยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น จากการลงพื้นที่ให้บริการในชุมชนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รพ. มีกิจกรรมที่ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การคัดแยกขยะรีไซเคิล การติดตั้งโซล่าเซลล์ เป็นต้น ทั้งนี้ รพ.จะทบทวนการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้อง นำไปสู่การวิเคราะห์และกำหนดมาตรการ และดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลการลดในระยะ 1 ปี ต่อไป
สำหรับด้านความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า ทั้ง 3 รพ. ประเมินความเปราะบางจากอุทกภัย และจัดทำแผนรองรับภัยแบ่งตาม Scenario มีการสื่อสารเตือนภัย การซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภค การเตรียม Oxygen สำรอง มีนวัตกรรมเสาวัดระดับน้ำ แผนฉุกเฉินกรณีน้ำประปาไม่พอใช้ การกำหนดจุดเสี่ยงเกิดอุทกภัย การบริหารอัตรากำลังและบุคลากรให้พร้อมช่วงอุทกภัย การเตรียมยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม พร้อมเมนูอาหารที่เหมาะสมกับวัตถุดิบ การเตรียมรถสุขาเคลื่อนที่ แผนอพยพผู้ป่วย แผนการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่ม น้ำใช้ การฟื้นฟูบุคลากร สุขภาพกาย-สุขภาพจิต การจัดการขยะติดเชื้อหลังเกิดอุทกภัย รวมทั้งมีการรายงานผลการดำเนินงาน การถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาแผนรองรับภัยให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งนี้ รพ.จะทบทวนเรื่องการประเมินความเปราะบางให้ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงการนำแผนงานที่มีอยู่ของ รพ. มาจัดทำแผนรองรับอุทกภัยเพื่อให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการดำเนินงานร่วมกับ รพ. นำร่องอื่นๆ ต่อไป