วันที่ 11 ตุลาคม 2567 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมชี้แจงและหารือแนวทางการดำเนินงานพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital Challenge (GCHC) และ GREEN & CLEAN sub-district health promoting hospital (GCSh) ปีงบประมาณ 2568 โดยมีนางสาวปรียนิตย์ ใหม่เจริญศรี รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน วัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2567 และชี้แจงค่าเป้าหมาย รวมถึงหารือแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2568 และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานร่วมกับผู้รับผิดชอบงานระดับศูนย์อนามัย สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และหน่วยงานวิชาการส่วนกลาง เพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- ผลการดำเนินงานพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital ปีงบประมาณ 2567 พบว่า ภาพรวม รพ. ดำเนินงานผ่านเกณฑ์ GCHC ระดับมาตรฐานขึ้นไป ร้อยละ 86.35 (ค่าเป้าหมาย ร้อยละ 60) และภาพรวม รพ.สต. ดำเนินงานผ่านเกณฑ์ GCSh ระดับมาตรฐานขึ้นไป ร้อยละ 53.25 (ค่าเป้าหมายร้อยละ 40) ข้อมูล ณ กันยายน 2567
- การดำเนินงานพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ GCHC และ GCSh ปีงบประมาณ 2568 มีค่าเป้าหมาย คือ ร้อยละของ รพ. พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์ GCHC ระดับมาตรฐานขึ้นไป ร้อยละ 90 ระดับ ท้าทาย ร้อยละ 25 และร้อยละของ รพ.สต. พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ GCSh ระดับมาตรฐานขึ้นไป ร้อยละ 60 และระดับดีขึ้นไป ร้อยละ 35
- Timeline การดำเนินงาน GCHC และ GCSh ปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย การจัดประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน การพัฒนาศักยภาพฯ ระดับพื้นที่ การจัดเวที GCH Forum รวมทั้งการตรวจประเมินระดับท้าทาย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การให้คำแนะนำทางวิชาการ และการสนับสนุนใบประกาศรับรอง
- จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน พบว่า ปัจจัยความสำเร็จ เช่น ผู้บริหารให้ความสำคัญ กำหนดเป็นนโยบายอย่างต่อเนื่อง การพัฒนากลไกการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ การบูรณาการดำเนินงานระหว่างเครือข่าย การมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง การติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การสื่อสารถ่ายทอดแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพ สนับสนุนชุดความรู้ด้านวิชาการให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินงานยังพบโอกาสในการพัฒนา อาทิ การพัฒนาระบบประเมิน GCH ที่มีความเสถียรและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ การพัฒนาศักยภาพและการสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนากลไกการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงาน การขยายผลการดำเนินงานสู่ รพ.สต. นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่าย