กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 9 เมษายน 2568 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้หัวข้อ “ปัญหาเหตุรำคาญ จัดการได้ด้วย EHA 6000” โดยมีนางสาวรุจิรา ไชยด้วง หัวหน้ากลุ่มอนามัยสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นและชุมชน แทนผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมสมนึก อูนากูล อาคาร 5 ชั้น 5 กรมอนามัย ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) และ Facebook Live สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม การประชุมฯครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นที่ประเด็น “การจัดการเหตุรำคาญ (EHA 6000)” เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการปัญหาเหตุรำคาญในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลทุกระดับ องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ศูนย์อนามัย หน่วยงานส่วนกลางของกรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,830 คน
การจัดประชุมฯ ดังกล่าว มีการบรรยายหัวข้อ “สถานการณ์และกฎหมายสาธารณสุขกับการควบคุมเหตุรำคาญ” โดยวิทยากรจากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม 2 ท่าน ได้แก่ 1) นางสาวศรัญญา กำจายกลาง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และ 2) นายตวงสิทธิ์ วิมุกตายน นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ พร้อมทั้งมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ปัญหาเหตุรำคาญ จัดการได้ด้วย EHA 6000” ในประเด็นหลัก คือ เหตุผลในการเลือกประเด็นการจัดการเหตุรำคาญในการประเมิน EHA การเตรียมความพร้อมก่อนการประเมิน ปัจจัยความสำเร็จ รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงาน ( SOP) โดยมีวิทยากรร่วมอภิปราย 3 ท่าน ได้แก่ 1) นางสาวสุดปรารถนา วิชากุล นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ จากเทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี 2) นายสุเมฐ แสนสิงห์ชัย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จากเทศบาลเมืองเขลางค์นคร จ.ลำปาง และ 3) นางสาวบิสณี เด่นดารา นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ เทศบาลตำบลคลองขุด จ. สตูล ทั้งนี้ ได้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อให้สามารถซักถาม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของตนเองได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด